ตึก 55 ปี : ต้นหูกวาง
ความเชื่อ
ในความเชื่อของจีนใบหูกวางแสดงถึงความมีบุญญาบารมีและวาสนา เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่อยู่ใน “ลก” คือ ความเจริญรุ่งเรือง จากอุดมคติแห่งความสุขในชีวิตชาวจีน “ฮก ลก ซิ่ว” นั่นเอง
นอกจากนั้น ต้นหูกวางผลสี่เหลี่ยมถือเป็นเอกลักณ์อย่างหนึ่งของหมู่เกาะเจื่องซาและหว่างซา ประเทศเวียดนามอีกด้วย
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อวิทยาศาสตร์: Terminalia catappa L.
ชื่อสามัญ: Bengal Almond, Indian Almond, Sea Almond, Singapore Almond, Tropical Almond, Olive-Bark Tree, Umbrella Tree
ชื่ออื่น: โคน (นราธิวาส), ดัดมือ ตัดมือ (ตรัง), ตาปัง (พิษณุโลก, สตูล), ตาแปห์ (มลายู - นราธิวาส), หลุมปัง (สุราษฎร์ธานี )
วงศ์: COMBRETACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:
ไม้ต้น ผลัดใบ สูง 8–28 ม. เปลือกเรียบ เรือนยอดแผ่กว้างในแนวราบ กิ่งแตกรอบลำต้นตามแนวนอนเป็นชั้นๆ คล้ายฉัตร
ใบ ใบเรียงเวียนสลับถี่ตอนปลายกิ่ง ใบเดี่ยวรูปไข่กลับ กว้าง 8-15 ซม. ยาว 12-25 ซม. โคนใบสอบแคบเว้า มีต่อม 1 คู่ ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้นๆ เนื้อใบหนา เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีส้มแดง
ดอก ดอกช่อออกตามซอกใบ ขนาดเล็ก สีขาวนวล มีลักษณะเป็นแท่ง ยาว 8-12 ซม. มีดอกเพศผู้อยู่ปลายช่อ ดอกสมบูรณ์เพศอยู่บริเวณโคนช่อ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นรูปสามเหลี่ยม 5 แฉก ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ 10 อัน
ผล รูปรีค่อนข้างแบนทางด้านข้าง ยาว 3-7 ซม. ผลสีแดงเหลืองหรือเขียว เมื่อแห้งสีดำคล้ำ
การขยายพันธ์: ขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด
สภาพที่เหมาะสม: ดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี ขึ้นตามหาดทราย และขึ้นได้ทั่วไป
ประโยชน์: เปลือกและผล มีรสฝาดมาก ใช้แก้ท้องเสีย ฟอกหนังสัตว์ ทำหมึก เมล็ดในผล รับประทานได้ ให้น้ำมันคล้ายอัลมอนด์