ตึก9 : ต้นสาละลังกา
สาละ ชาวอินเดียเรียกว่า ซาล [Sal] เป็นไม้ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ตั้งแต่ประสูติจนถึงปรินิพพาน
โดยที่พุทธมารดาคือพระนางสิริมหามายา เมื่อใกล้กำหนดจะให้พระสูติการก็เสด็จจากกรุงกบิลพัสดุ์ ไปยัง กรุงเทวทหนคร ในระหว่างทางพระนางได้ทรงหยุดพักบริเวณสวนลุมพินีวัน ใต้ร่มต้นสาละ เขตตำบลลุมพินีสถาน ซึ่งอยู่ระหว่างพรมแดนกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ เป็นวันเพ็ญ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ยามนั้นอากาศโปร่ง ต้นไม้ในป่าสาละอุทยานลุมพินีกำลังผลิตดอกออกเบ่งบาน ส่งกลิ่นเป็นที่จำเริญใจ เป็นด้วยอำนาจบุญญาธิการของพระราชโอรส พระนางทรงเจ็บพระครรภ์ จึงได้ให้คนเตรียมพื้นที่ เพื่อประสูติพระโอรสอย่างกะทันหัน พระนางทรงยื่นพระหัตถ์เหนี่ยวกิ่งต้นสาละ และได้ทรงประสูติพระโอรสซึ่งมีพระวรกายผุดผ่อง อันสมบูรณ์ ด้วยลักษณะ แห่งมหาบุรุษ ที่ไม่มี บุรุษใด จะเทียบเทียมได้ พระโอรสนี้คือพระโพธิสัตว์ผู้เปี่ยมด้วยบารมี
ครั้นยามสามของวันเพ็ญ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ภายใต้ร่มเงาพระศรีมหาโพธิ ภายในป่า สาละ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ
ครั้น วันเพ็ญเดือน ๘ สองเดือนภายหลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้พระพุทธองค์เสด็จมาถึงบริเวณป่าสาละอันร่มรื่น ณ อุทยานมฤคทายวันหรืออิสิปตนมฤคทายวัน ทางทิศเหนือใกล้เมืองพาราณสี แคว้นกาสี ณ ที่นี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนากัณฑ์แรก คือ ธัมมจักกัปปวันสุตร โปรดปัญจวัคคีย์ พระรัตนตรัยเกิดครบบริบูรณ์ครั้งแรกในโลกนี้ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
สำหรับในช่วงสุดท้ายที่ต้นสาละเข้าไปเกี่ยวข้องกับพระพุทธประวัตินั้น เมื่อพระพุทธเจ้ามีพระชนมายุ ครบ ๘๐ พรรษา พระพุทธองค์ได้เสด็จถึงสาลวโนทยานหรือสวนป่าไม้สาละของมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ เป็นเวลาใกล้ค้ำของวันเพ็ญ เดือน ๖ วันสุดท้ายก่อนการกำเนิดพุทธศักราช ได้ประทับในบริเวณสาลวโณทยาน ภายใต้ร่มต้นสาละคู่หนึ่ง ทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายมาก จึงรับสั่งให้พระอานนท์ ซึ่งเป็นองค์อุปัฏฐากปูลาดที่บรรทมเอนพระวรกาย ลงโดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ประทับไสยาสน์แบบสีหไสยาเป็นอนุฏฐานไสยาคือเป็นการนอนครั้งสุดท้ายจนกระทั่งสังขารดับแล้วเสด็จดับขันธ์สู่ปรินิพพานภายใต้ต้นสาละนั่นเอง
ข้อมูลทั่วไป
สาละลังกาหรือลูกปืนใหญ่ (Cannonball Tree) เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์ Couroupitaguianensis
ลักษณะทางพฤษศาสตร์
สาละลังกาเป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบเรือนยอดทรงกลมหรือรูปไข่ หนาทึบ เปลือกสีน้ำตาลแกมเทาแตกเป็นร่องและสะเก็ด ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ เป็นกระจุกที่ปลายกิ่งรูปขอบขนานถึงรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว12-25 เซนติเมตรปลายใบแหลม โคนใบสอบหรือมน ขอบใบจักตื้น ใบหนา ดอกสีชมพูอมเหลืองหรือแดงด้านในสีม่วงอ่อนอมชมพู มีกลิ่นหอมมากออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะขนาดใหญ่ตามลำต้น ช่อดอกยาว 30-150 เซนติเมตรปลายช่อโน้มลง กลีบดอกหนา 4-6 กลีบ กลางดอกนูน สีขนสั้นสีเหลืองคล้ายแปรงเกสรเพศผู้เป็นเส้นยาวสีชมพูแกมเหลืองจำนวนมาก ทยอยบานจากโคนไปหาปลายช่อนานเป็นเดือน ดอกบานเต็มที่กว้าง 5-10 เซนติเมตร ผลแห้ง ทรงกลมใหญ่ ขนาด 10-20 เซนติเมตร เปลือกแข็ง สีน้ำตาลปนแดงผลสุกมีกลิ่นเหม็นมีเมล็ดจำนวนมาก รูปไข่
ประวัติ
ต้นสาละลังกา มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบอเมริกาใต้ในประเทศเปรู, โคลัมเบีย, บราซิลและประเทศใกล้เคียงในปีพ.ศ. 2424สวนพฤกษศาสตร์ศรีลังกาได้นำเข้าต้นลูกปืนใหญ่จากตรินิแดดและโตเบโกต่อมาได้ขยายพันธุ์ไปทั่วศรีลังกาแต่ชาวศรีลังกากลับเรียกต้นลูกปืนใหญ่นี้ว่า ซาล (Sal) โดยไม่ปรากฏเหตุผลและไม่ทราบความเป็นมาของต้นลูกปืนใหญ่ส่วนมากอ้างว่านำมาจากอินเดียและที่เรียกเพราะซาลเพราะเชื่อว่าก้านชูอับเรณูที่เชื่อมกันเป็นรูปผืนผ้าตัวงอเป็นตัว U นอนปุ่มตรงกลางเปรียบเสมือนพระแท่นที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานมีเกสรสีเหลืองรายล้อมเปรียบเสมือนพระสงฆ์สาวกห้อมล้อมอยู่ส่วนด้านบนเป็นที่บังแดดและน้ำค้างประดับด้วยดอกไม้เนื่องจากมีดอกตลอดปีประกอบกับกลิ่นหอมที่ทนนานชาวศรีลังกาจึงนิยมใช้บูชาพระเช่นดอกไม้อื่นๆ
ต้นสาละลังกา หรือตันลูกปืนใหญ่มิใช่พืชพื้นเมืองของศรีลังกาและอินเดียและต่างจากต้นสาละอย่างสิ้นเชิงทั้งถิ่นกำเนิดและพฤกษศาสตร์จึงได้มีการจำแนกชื่อที่พ้องกันเพื่อเรียกให้ถูกต้องว่าต้นสาละ (Sal Tree) หรือสาละอินเดีย (Sal of India) และต้นลูกปืนใหญ่ (Cannonball Tree) หรือสาละลังกา (เรียกเฉพาะในไทย) แต่ด้วยความไม่รู้ความเป็นมาและชื่อเดิมชาวไทยจึงนิยมเรียกสาละอินเดียกับสาละลังกา
No comments:
Post a Comment